ข้อควรรู้เกี่ยวกับการแจ้งเกิด

พอถึงช่วงใกล้คลอด เชื่อว่าคุณแม่หลายๆ ท่านต้องตื่นเต้นอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นการแพ็คกระเป๋าเตรียมคลอด ทั้งเสื้อผ้าของคุณแม่ และของใช้ของ เจ้าตัวน้อย แต่มีอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญมากๆ และคุณแม่ห้ามลืมเหมือนกันนะคะ คือการเตรียมเอกสารในการแจ้งเกิด เพราะจะต้องทำภายใน 15 วัน ไม่อย่างนั้นจะโดนค่าปรับด้วยนะคะคุณแม่ ซีบล็องเลยทำลิสสรุปแบบง่ายๆ เป็นข้อควรรู้เกี่ยวกับแจ้งเกิด มาให้คุณแม่ศึกษาไว้ล่วงหน้านะคะ

 

1.กรณีเกิดในโรงพยาบาล ในยุคสมัยนี้ส่วนมากคุณแม่หลายๆ านวางแผนการคลอดไว้อย่างรอบคอบอยู่แล้ว ส่วนมากก็จะคลอดกันที่โรงพยาบาล ที่โรงพยายาลก็จะค่อนข้างสะดวกในเรื่องของการทำเอกสารในการคลอด เจ้าหน้าที่ทำคลอดจะออกหนังสือรับรองการเกิด (ทร.1/1) ให้เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลซึ่งทำหน้าที่เจ้าบ้านเป็นผู้แจ้งการเกิด โรงพยาบาลจะนัดบิดาหรือมารดาไป รับสูติบัตรและใบแจ้งย้ายที่อยู่เพื่อนำไปแจ้งย้ายเข้าต่อ

หลักฐานที่ต้องนำไปแจ้งเกิด
-บัตรประจำตัวผู้แจ้ง (เจ้าบ้าน/เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล/บิดา/มารดา)
-กรณีมอบหมาย ใช้บัตรประจำตัวผู้แจ้ง และหนังสือมอบหมาย
-หนังสือรับรองการเกิด (แบบพิมพ์ทร.1/1)
-กรณีเพิ่มชื่อเข้าบ้านในเขตท้องที่ ให้แนบสำเนาทะเบียนฉบับเจ้าบ้านที่จะขอเพิ่มชื่อเด็กเข้า

2.กรณีฉุกเฉินคุณแม่ไปโรงพยาบาลไม่ทัน ก็จะถูกแบ่งออกเป็นอีก 2 กรณี

     1.กรณีเด็กเกิดในบ้าน ให้เจ้าบ้าน หรือบิดา มารดาของเด็กเป็นผู้แจ้ง หากไม่สะดวกมาแจ้งด้วยตนเอง อาจมอบหมายให้บุคคลอื่นเป็นผู้แจ้งแทนได้ โดยบิดาหรือมารดาต้องทำหนังสือมอบ  หมายและมอบบัตรประจำตัวประชาชนให้ผู้แจ้ง ถือมาแสดงต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้ง จะต้องติดต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่ที่มีคนเกิดในบ้าน ภายใน 15 วันนับตั้งแต่วันเกิด

     หลักฐานที่ต้องนำไปแจ้ง
     -บัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าบ้านและของบิดามารดาเด็ก
     -สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน
     -กรณีมอบหมาย ใช้บัตรประจำตัวผู้แจ้ง และหนังสือมอบหมาย 

3.กรณีเกิดนอกบ้าน หรือกรณีเด็กเกิดที่ใดก็ตามที่ไม่ใช่บ้านของตน ผู้ที่มีหน้าที่แจ้งเกิดคือบิดา มารดาของเด็ก หรือผู้ได้รับมอบหมายเป็นผู้แจ้ง โดยต้องแจ้งแก่นายทะเบียนผู้รับแจ้ง แห่งท้องที่ที่คนเกิดนอกบ้าน ภายใน 15 วันนับตั้งแต่วันที่เกิด แต่หากเกิดเหตุฉุกเฉินเช่น เกิดน้ำท่วมอย่างหนักเป็นเวลานานไม่อาจไปแจ้งในท้องที่ที่เด็กเกิดได้ทันเวลา ก็สามารถแจ้งแก่นายทะเบียนท้องที่อื่น ๆ ได้ แต่ต้องไม่เกิน 30 วันนับแต่วันที่เกิด 

     หลักฐานที่ต้องนำไปแจ้ง 
     -บัตรประจำตัวประชาชนของมารดาเด็ก
     -สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน
     -กรณีมอบหมาย ใช้บัตรประจำตัวผู้แจ้ง และหนังสือมอบหมาย

เมื่อแจ้งการเกิดแล้ว นายทะเบียนจะออกสูติบัตร (ใบแจ้งเกิด) ให้แก่ผู้แจ้งไว้เป็นหลักฐาน ซึ่งสูติบัตรจะแสดงสัญชาติ วัน เดือน ปีเกิด ชื่อบิดา มารดา อีกทั้งควรแจ้งชื่อของเด็กที่เกิดด้วย และถ้าประสงค์จะเปลี่ยนชื่อใหม่ ก็ให้แจ้งต่อนายทะเบียนภายใน 6 เดือนนับแต่เกิด **เมื่อพ้นเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ (15 วัน) ตามกฎหมายมีบทกำหนดโทษ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท**